พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชการที่ ๕ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์) มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถ ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน แห่งการครองราชย์ ได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกและโรงเรียนแพทย์ขึ้นในประเทศไทย
ด้วยทรงตระหนักว่า โรงพยาบาลเป็นสิ่งสำคัญที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์อันเป็นที่รักของพระองค์ เนื่องมาจากในสมัยนั้นประเทศไทยยังไม่มีโรงพยาบาล และโรงเรียนแพทย์ เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรักษาด้วการแพทย์แผนโบราณ หรือจากสถานพยาบาลของมิชชันนารี ประกอบกับเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคไปทั่วโลก ระบาดมาประเทศไทยทางทหารสมัครและประชาชนทั่วไป ทำให้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้พระองค์ทรงมีพระราชปรารภในการจัดตั้งโรงพยาบาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงพยาบาลชั่วคราว หรือโรงพยาบาลเอกเทศ จำนวน ๔๘ แห่ง ในกรุงเทพฯ ภายหลังได้ยกเลิกเมื่อโรคสงบลง และในปีนี้ยังทรงโปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ จัดเรือนำหมอหลวงไปปลูกฝีให้แก่ประชาชนในจังหวัดอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งจัดให้กองหมอหลวงไปปลูกฝีให้หัวเมืองทางเหนือและใต้ทุกปี และการที่พระองค์ได้เคยไปทอดพระเนตรการแพทย์ประเทศสิงคโปร์ และชวา
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรสองค์ที่ ๕ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ สิ้นพระชนม์ ทำให้พระองค์มุ่งมั่นที่จะสร้างโรงพยาบาลให้สำเร็จ
วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะคอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล ณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวังหลัง ซึ่งเคยเป็นวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข และซื้อที่ดินริมน้ำของโรงเรียนวังหลังของมิชชันนารีอเมริกัน สร้างโรงพยาบาล โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรก จำนวน ๒๐๐ ชั่ง (๑๖,๐๐๐ บาท) สร้างเรือนผู้ป่วย ๖ หลัง รวมทั้งสร้างเรือนพักแพทย์และคลังยา
“...โรงพยาบาลนี้ได้คิดมาช้านาน อยากจะให้มีขึ้นได้ในทันใด แต่การนั้นไม่สำเร็จไปได้ตลอด จนได้ตั้งใจแลออกปากอยู่เนื่องๆว่าถ้าจะตายจะขอแบ่งเงินพระคลังข้างที่เป็นส่วนหนึ่ง มอบไว้สำหรับใช้ในการโรงพยาบาลแลสั่งไว้ขอให้จัดการให้ได้สำเร็จดังประสงค์ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็จะคิดจัดการให้มีขึ้นจนได้ แลอุดหนุนการโรงพยาบาลด้วยทุนรอนส่วนหนึ่ง ไม่ชักเงินที่เป็นส่วนมรดกซึ่งกำหนดว่าจะให้นั้นมาใช้ แลมีอำนาจที่จะใช้เงินแผ่นดินได้อยู่ ก็จะใช้เงินแผ่นดินเป็นรากเหง้าของการโรงพยาบาลบ้างตามสมควร การที่คิดไว้นี้ได้ทดลองจะจัดการบ้างก็ยังไม่เห็นว่าจะเป็นการถาวรมั่นคงได้ ภายหลังที่เกิดวิบัติเคราะห์ร้าย ลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจ เห็นว่าแต่ลูกเราซึ่งพิทักษ์รักษาเพียงนี้ ยังได้ความทุกขเวทนาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้ทุกขเวทนา ยิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปราถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลยิ่งขึ้น
(พระราชหัตถเลขาตอบคณะคอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล พ.ศ. ๒๔๓๑)
“โรงพยาบาลนี้เป็นส่วนพระราชกุศล ทรงสละพระราชทรัพย์ให้ตั้งขึ้นเป็นทานในการรักษาโรคและป้องกันความทุกข์ยากของชนทั้งหลายที่จะเกิดจากพยาธิ มิให้หมอหรือคนพยาบาลเรียกค่ายา ค่ารักษาแก่คนไข้เลยเป็นอันขาด ยกไว้แต่ผู้ที่มีสัทธาในส่วนพระราชกุศลอันนี้”
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรส เป็นที่พระอาลัยเศร้าโศกแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ได้ทรงจัดงานพระราชเพลิงพระศพโดยสร้างพระเมรุเป็นพิเศษ ณ ท้องสนามหลวง ด้วยเครื่องไม้จริงเสร็จสิ้นแล้ว โปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งตู้ โต๊ะ เตียงและเก้าอี้ นำมาใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาล รวมทั้งได้พระราชทานเงินพระมรดกของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ จำนวน ๗๐๐ ชั่ง(๕๖,๐๐๐ บาท) เป็นทุนสำหรับสร้างโรงพยาบาล และพระราชทานเงินสมทบในการสร้างตึกเสาวภาคและตึกวิคตอเรีย
ตึกเสาวภาค
ตึกวิคตอเรีย
วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของประเทศไทย พระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล” เพื่อเป็นพระอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรส ที่สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมของชาวศิริราช และได้ถือเอาวันที่ ๒๖ เมษายน เป็นวันกำเนิดศิริราชพยาบาล โดยมีประกาศเปิดโรงพยาบาล ที่สำคัญ คือ
“โรงพยาบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คอมมิตตีปรึกษากันจัดการขึ้นเป็นมหาทาน แก่เอนกชนนิกรที่อาศัยอยู่ในพระราชอาณาเขตต์ประเทศไทยนั้น บัดนี้ได้จัดการทั้งปวง แล้วเสร็จพอสมควรที่จะเปิดรักษาโรคในชั้นแรกนี้ได้แล้ว ได้จัดให้มีเรือนหมอ เรือนคนป่วยไข้อยู่ มีหมอรักษาโรคและคนพยาบาลพร้อมแล้ว โรงพยาบาลนั้นได้ตั้งอยู่ที่พระราชวังหลังริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก มีบริเวณที่อาศัยสะอาดเรียบร้อย พอสมควรกับการชั้นแรก กำหนดจะเปิดรับรักษาโรคต่างๆ ไม่ว่าโรคอย่างใดในวันที่ ๕ เดือน ๖ แรม ๑ ค่ำ ปีชวดสัมฤทธิศก ๑๒๕๐ ถ้าผู้ใดป่วยไข้จะมาอยู่ในโรงพยาบาลนี้ หรือผู้คนข้าทาสป่วยเจ็บจะมาส่งยังโรงพยาบาลนี้ ก็รับรักษาให้ไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมอันใด ถ้าผู้ใดมีความประสงค์จะส่งคนเจ็บหรือกิจใดๆ ในการเจ็บป่วย จงมาตามกำหนดที่บอกแล้วข้างต้น
โรงพยาบาลนี้เป็นส่วนพระราชกุศล ทรงสละพระราชทรัพย์ให้ตั้งขึ้นเป็นทานในการรักษาโรคและป้องกันความทุกข์ยากของชนทั้งหลายที่จะเกิดจากพยาธิ มิให้หมอหรือคนพยาบาลเรียกค่ายา ค่ารักษาแก่คนไข้เลยเป็นอันขาด ยกไว้แต่ผู้ที่มีสัทธาในส่วนพระราชกุศลอันนี้ หรือมีจิตต์กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จะออกเงินเข้าในส่วนพระราชกุศลมหาทานนี้ได้ไม่ห้ามปราม และเป็นที่ทรงยินดี อนุโมทนาด้วย เป็นเหตุที่สมควรพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการจะช่วยอนุเคราะห์ อุดหนุนให้โรงพยาบาลนี้เจริญยืดยาวเป็นคุณประโยชน์ยิ่งขึ้นโดยสมควร”
นอกจากจะทรงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกแล้ว ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณด้านต่างๆ คือ
พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งกรมพยาบาลขึ้นด้วย โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ เป็นอธิบดีบังคับการกรมพยาบาลเป็นพระองค์แรก เพื่อควบคุมและจัดการกิจการโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลอื่นๆที่มีการก่อตั้งขึ้น เช่น โรงพยาบาลเทพศิรินทร์ โรงพยาบาลสามเสน โรงพยาบาลคนเสียจริต เป็นต้น
พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๒
พ.ศ.๒๕๓๓ เปิดโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย กำหนดหลักสูตร ๓ ปี เปิดการเรียนการสอน
เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓
พ.ศ.๒๔๓๔ เพิ่มการสอนวิชาแพทย์แผนโบราณขึ้นในโรงเรียนแพทย์
พ.ศ.๒๔๓๖ พระราชทานนามโรงเรียนแพทย์ในพื้นที่โรงพยาบาลว่า “โรงเรียนแพทยากร”
พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์แห่งแรกของประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนแพทย์หลังใหม่ พระราชทานนามว่า “ราชแพทยาลัย (Royal Medical College)” ประทับตราแผ่นดินที่จั่วอาคาร
ตราแผ่นดิน
พระราชทานเครื่องหมาย “เหรียญทรงยินดี” หรือเหรียญดุษฎีมาลา แก่อาจารย์แพทย์และพนักงานผู้มีความชอบในราชการแผ่นดิน และพระราชทานประกาศนียบัตรแก่แพทย์รุ่นที่ ๘ และพยาบาลรุ่นแรก
ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ก่อเกิดกำเนิดสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขไว้มากมาย คือ
๑. การตั้งโอสถศาลา จัดซื้อยาให้แก่องค์การต่างๆของรัฐบาล
๒. จัดตั้งกองทำพันธุ์หนองฝี ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแก่ประชาชน
๓. จัดตั้งสภารักษาความเจ็บป่วยของทหารในการสงครามขึ้น เรียกว่า “สภาอุณาโลมแดง” หรือสภากาชาดไทยโดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงเป็น “สภาชนนี” สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงเป็น สภานายิกา ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็น เลขานุการิณี และ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ เป็นเหรัญญิกา สภาอุณาโลมแดง
๔. พ.ศ. ๒๔๔๐ มีพระราชดำรัสสั่งให้ตั้ง “กรมสุขาภิบาลกรุงเทพฯ”
๕. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างอาคารต่างๆ ได้แก่ ตึกราชแพทยาลัย ห้องสมุด เรือนคณะแพทย์ เรือนพักสำหรับนักเรียนแพทย์และเรือนออกกำลังกาย
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
เอกสารอ้างอิง
๑. สรรใจ แสงวิเชียร, ผู้เรียบเรียง. ศิริราชร้อยปี : ประวัติและวิวัฒนาการ. กรุงเทพฯ: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล; ๒๕๓๑.
๒. มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. ๑๒๐ ปี ศิริราช [120 years of achievements]. กรุงเทพฯ: คณะฯ; ๒๕๕๑.